ปี พ.ศ. 2566

บทความวิจัย เรื่อง "ใจเขา ใจเรา สร้างทักษะสื่อสารเพื่อไม่ให้โลกออนไลน์โหดร้ายเกินไป"

ใจเขา ใจเรา สร้างทักษะสื่อสารเพื่อไม่ให้โลกออนไลน์โหดร้ายเกินไป

          การกลั่นแกล้งกันเป็นพฤติกรรมที่ดูจะคุ้นเคยมานานอยู่แล้วในสังคม หลายคนคงอาจเคยประสบพบเจอการกลั่นแกล้งจากคนรอบตัวทั้งทางคำพูด เช่น ด่าทอ เหน็บแนม เสียดสี ข่มขู่ หรือทางกาย เช่น แอบทำร้ายข้าวของ แกล้งให้เจ็บตัว ผลกระทบจากการกลั่นแกล้งที่เคยเกิดขึ้นทั่วไปแบบซึ่งหน้าผลจะอยู่แค่ตรงนั้น แต่ปรากฎการณ์การกลั่นแกล้งที่ส่งผลกระทบวงกว้างและเกิดมากขึ้นในปัจจุบันคือ พฤติกรรมการการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ หรือไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbullying)  ซึ่งอาจมาจากความคึกคะนองด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ผ่านการใช้ข้อความ คอมเมนท์ ภาพ เสียง การใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง ไปจนถึงการแอบอ้าง ดัดแปลงข้อมูล ข้อมูลที่อยู่บนโลกออนไลน์นั้นสามารถแพร่กระจาย ทำซ้ำ และยากจะที่กำจัดให้หายไปโดยไม่เหลือร่องรอย ดังนั้นการกระทำดังกล่าวสามารถสร้างบาดแผลให้กับผู้ที่ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นสร้างความหวาดกลัว ตกใจ อับอาย รู้สึกแย่ ไร้ค่า ซึมเศร้า ไม่อยากพบเจอใคร รวมไปจนถึงร้ายแรงที่สุดคือ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังปรากฏในข่าวให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง การถูก Cyberbullying เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะบุคคลทั่วไป ศิลปิน ดารา คนมีชื่อเสียงในสังคม  รวมถึงเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก

          การสำรวจการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ในประเทศอังกฤษ ปี 20211 พบว่า 70% ของการ Cyberbullying พบบนสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ งานวิจัยจาก Journal of Health Economics ชี้ว่าการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อคิดฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 14.5% และพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 8.7%  ในประเทศไทยนั้น สถิติของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 25622 พบว่า 80 % เด็กและเยาวชนไทยเจอภัยคุกคาม ล่อลวงและการกลั่นแกล้งจากโรงเรียนและบนโลกอินเตอร์เน็ตเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย  28% ของเด็กไทยมองว่า Cyberbullying เป็นเรื่องปกติ  39% ของเด็กไทยมองว่า Cyberbullying เป็นเรื่องสนุก และ 59% ของเด็กไทยบอกว่า "เคยเป็นส่วนหนึ่งใน Cyberbullying"  ซึ่งที่มาของพฤติกรรมการการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์มีหลายปัจจัย3,4 เช่น โครงสร้างของสังคมที่ยังไม่วิวัฒนาการมากพอจะเข้าใจการรังแกทางไซเบอร์ เกิดจากความไม่รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ เหตุการณ์ความขัดแย้ง ไม่ชอบหน้า ความสนุกคึกคะนองระหว่างเพื่อน ฯลฯ

          จากสาเหตุของการกลั่นแกล้งกันทางโลกออนไลน์ข้างต้น เห็นได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการขาดความตระหนักถึงผลกระทบจากพฤติกรรมเหล่านั้น บวกกับคุณลักษณะของการสื่อสารบนโลกออนไลน์ที่ผู้สื่อสารสามารถปกปิดตัวตน โดยไม่ใช้ภาพจริง ชื่อจริง  จึงเอื้อให้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวง่ายมากขึ้น ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง และแสดงความเหยียดหยามเกลียดชังมากกว่าการสื่อสารแบบเปิดเผยตัวตน  การไม่เห็นหน้าค่าตาในการสื่อสารยังส่งผลต่อการลดความวิตกกังวลในการข่มเหงรังแกผู้อื่น และลดความรับผิดชอบในตนเอง ท้ายที่สุดนำไปสู่การกลั่นแกล้งผู้อื่นบนโลกออนไลน์ได้โดยง่าย โดยขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

          แนวคิดของประเด็นทางจริยธรรมทางดิจิทัล (digital ethics) จึงเข้ามาเป็นเหมือนแนวปฏิบัติที่ทำให้พฤติกรรมของตัวตนบนโลกออนไลน์ของผู้ใช้จะไม่ส่งผลทางลบต่อสภาพจิตใจและร่างกาย รวมไปถึงการฉ้อโกงต่อทรัพย์สิน และประโยชน์อื่น ๆ ของผู้อื่น ผู้ใช้ต้องตระหนักในผลของการกระทำ และการรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ เคารพต่อผู้ใช้คนอื่น และสามารถกำหนดใจตนเองระหว่างการสื่อสารไม่ให้สร้างความกระทบกระเทือนต่อใคร เมื่อในปัจจุบันที่โลกออนไลน์และออฟไลน์เชื่อมต่อกันมากขึ้น การกระทำในโลกออนไลน์ส่งอาจผลต่อชีวิตจริงของผู้อื่นได้ เช่น การรังแกบนโลกออนไลน์นำไปสู่การรังแกกันต่อในสังคมข้างนอก  การทำร้ายร่างกายในโลกจริงหรือนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ฯลฯ

          จริยธรรมทางดิจิทัลสอดรับกับ Digital Empathy หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเราทางดิจิทัล เป็นหนึ่งในแปดทักษะของความฉลาดทางดิจิทัล (DQ: Digital Intelligence Quotient) ที่จะทำให้คน ๆ หนึ่งสามารถเผชิญกับความท้าทายบนเส้นทางของชีวิตในยุคดิจิทัล และสามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตดิจิทัลได้ โดยแปดทักษะของความฉลาดทางดิจิทัล ประกอบไปด้วย การรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง การรักษาข้อมูลส่วนตัว การคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี การจัดสรรเวลาหน้าจอ การรับมือกับการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ การบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานมีการทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ การรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ และการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

         การเอาใจเขามาใส่ใจเราทางดิจิทัล คือการเข้าไปอยู่ในความรู้สึกผู้อื่นในการสื่อสารบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ที่แตกต่างไปจากเรา รวมทั้งการเท่าทันอารมณ์ของตนเองในการโต้ตอบ แสดงความคิดเห็นที่เหมาะสม และใช้ข้อความหรือสื่อในเชิงบวก ที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหายและกระทบกระเทือนทางจิตใจ เมื่อจะเผยแพร่สื่อหรือเนื้อหาใด ควรคิดไตร่ตรอง และตั้งคำถามเสมอกับว่า “เมื่อผู้อื่นเห็นหรือได้อ่านแล้วจะรู้สึกอย่างไร” เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความเหมาะสมในการโต้ตอบ แสดงความคิดเห็น หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นบนโลกดิจิทัล ไม่เพิกเฉยเมื่อเห็นผู้อื่นได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องในสังคม และมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น อันเป็นคุณลักษณะของพลเมืองประชาธิปไตย

         ทักษะการเอาใจเขามาใส่ใจเราทางดิจิทัลเป็นสิ่งที่สร้างและฝึกฝนได้ ผ่านการคิดเสมอว่าเราต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเราอย่างไร เราก็ควรปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นนั้น และหากเราไม่ชอบการปฏิบัติเช่นไร ก็ไม่ควรกระทำต่อผู้อื่นเช่นกัน หลายครั้งเราอาจสื่อสารโดยคิดว่าเป็นเรื่องล้อเล่นกัน พูดเพราะความสนิทสนม ไม่น่าใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่เนื้อหาเหล่านั้นจากเป็นการตอกตะปูลงไปในใจของผู้นั้นเป็นรอยแผลที่แม้จะถอนตะปูออกไป แต่ย่อมทิ้งร่องรอยบาดเจ็บเอาไว้ หากทุกคนคำนึงถึงเรื่องนี้เสมอ รู้จักการเข้าไปนั่งอยู่ในความรู้สึกผู้อื่นย่อมนำไปสู่การลดปัญหาของการกลั่นแกล้ง การสร้างความเกลียดชัง การคุกคาม การหลอกลวงกันทางออนไลน์ สร้างบรรยากาศดีในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ เพื่อไม่ให้การใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์น่ากลัวและโหดร้ายเกินไป

ที่มาของข้อมูล : 1) NordVPN-https://nordvpn.com/blog/cyberbullying-statistics/

                          2) สำนักข่าวอิศรา - https://www.isranews.org/article/isranews-article/105059-isranews-bullying.html

                          3) พินวา แสนใหม่ (2563) การรังแกทางไซเบอร์ผ่านสื่อออนไลน์สาเหตุและแนวทางการจัดการปัญหา. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

                         4) ปองกมล สุรัตน์ (2561) สาเหตุและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการรังแกผ่านโลกไซเบอร์:กรณีศึกษาเยาวชนไทยผู้ถูกรังแก. วารสารวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ, 260-273.

โดย..ผศ.ดร.ศศิธร ยุวโกศล
อาจารย์ประจำวิชาเอกการสื่อสารเพื่อการจัดการนวัตกรรม
วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว