"รักของเรา (มีค่า)เท่ากันไหม"
“ทุนนิยมเปลี่ยนความรักให้กลายเป็นสินค้า” ทุนนิยมกับความรักอย่างนั้นหรือ ฟังดูแล้วเหมือนคนละขั้ว ดูเป็นเรื่องที่ไม่สามารถบรรจบกันได้ นี่เรากําลังพูดเรื่องเดียวกันหรือเปล่า? แน่นอนว่าผู้คนส่วนมากที่ได้อ่านข้อความนี้คงนึกสงสัยในใจ ยิ่งความรักเป็นสินค้ายิ่งแล้วใหญ่ เพราะความรักคือสิ่งสวยงามต่างหาก แล้วคุณแน่ใจหรือว่าตัวเองไม่ได้มองความรักเป็นสินค้าอยู่ บทความนี้จะพาคุณไปเปิดโลกของความรักในมุมมองของเศรษฐศาสตร์กัน แม้ว่าทุนนิยมและความรักดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถบรรจบกันได้แต่ความจริงแล้วคุณอาจเข้าใจความ หมายของทุนนิยมไม่มากพอ ทุนนิยมเป็นเรื่องของความหลากหลายของสินค้าที่มีตัวเลือกและเปิดโอกาสให้คุณเลือก การที่เราตั้งสเปกในเรื่องความรัก ‘หนุ่มหล่อ ขาวตี๋ สูง190 พูดได้ 5 ภาษา ขับรถสปอร์ต มีเงินเก็บพันล้าน’ นี่แหละคือ ทุนนิยม หากยังไม่เห็นภาพ การที่เราโหลดแอปพลิเคชันหาคู่ ลุกขึ้นมาแต่งหน้าทำผมเพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเองได้พบเจอกับความรัก รวมถึงการคาดหวังในความสัมพันธ์ ทุกอย่างล้วนเป็นทุนนิยม เพราะทุนนิยมไม่ใช่แค่เศรษฐกิจแต่ทุนนิยมคือสังคม
เนื่องจากระบบทุนนิยมให้ความสําคัญกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจความรักจึงดูเหมือนว่าถูกทำให้เป็นสินค้ามีธุรกิจเกี่ยวกับความรักเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น รับจ้างบอกรัก แอปหาคู่ หรือแม้กระทั่งธุรกิจมูเตลูเพราะความรักเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา ความรักจึงถูกทำให้เป็นสินค้า "ในนามของความรัก" “ความรักที่เราพบเห็นมากมายบนโลกจึงเป็นแค่สินค้าใกล้เคียงที่ถูกติดฉลากไว้ในนามของความรัก” รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง
รู้ว่าเหนื่อย ถ้าอยากได้ของที่อยู่สูงไหนใครอยากขอลองดูซักที
ทุกคนเคยลงทุนกับความรักกันมั้ย? อะอ๊ะ ไม่ต้องรีบตอบก็ได้ เพราะที่จริงคุณอาจเผลอลงทุนโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ บางคนอาจจะแย้งว่า ‘ความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก ทําไมพูดเป็นธุรกิจไปได้’ จากการสำรวจเหล่านักรักจำนวน 100 คนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาพบว่า นักรักวัยใสช่วงอายุต่ำกว่า 25 ปี มักจะยึดติดกับความรู้สึกมากถึง 58% ต่างจากเหล่านักรักวัยเก๋าผู้ที่มีช่วงอายุ 25 ปีขึ้นไป ที่ไม่ได้คํานึงเพียงแค่เรื่องความรู้สึกอาจเป็นเพราะ ช่วงอายุที่มากขึ้นก็ตามมาด้วยความรับผิดชอบที่ล้นมือ ทำให้จําเป็นต้องมองภาพรวมกว้างขึ้น รวมไปถึงเรื่องความรักด้วย ช่วงอายุนี้จึงคิดว่า ‘ความรักคือการลงทุนมากกว่า’
“ถ้าฉันให้ความรักเธอไปเท่านี้ เธอก็ควรให้ฉันกลับมาเท่า ๆ กัน”
เป็นประโยคที่ถูกหลายคนตัดสินไปแล้วว่า ‘นี่มันทำดีหวังผลชัด ๆ’ แต่เชื่อหรือไม่ว่า นักรักวัยเก๋าถึง 70% เห็นด้วยกับประโยคนี้ ซึ่งต่างจากนักรักวัยใสอย่างสิ้นเชิง ใคร ๆ ก็คาดหวังในความสัมพันธ์ทั้งนั้น เพราะในช่วงวัยที่โตขึ้นเราไม่สามารถที่จะมีความรักอันหวานชื่นได้ตลอดเวลา ทุกคนได้สัมผัสรสชาติของชีวิตที่ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเอง เมื่อเลือกจะมีคู่ชีวิต ก็ต้องวางแผนชีวิต ค่ากินอยู่ หากเราเลือกที่จะคบใครสักคนแต่เขาใช้ชีวิตแบบไม่วางแผนอนาคตก็อาจพาชีวิตเราดิ่งลงเรื่อย ๆ ก็เหมือนการที่เราลงทุนไป แต่ไม่ได้ผลตอบแทนกลับมาแถมยังขาดทุนอีกต่างหาก คุณยังจะเลือกลงทุนต่อหรือไม่ ?
“เพราะโลกแห่งทุนนิยมทำให้เราคาดหวัง ‘ผลตอบแทน’ แม้กระทั่งเรื่องความรัก”
การลงทุนกับความรักไม่ใช่เรื่องของยุคสมัยใหม่แต่อย่างใด เพราะหากใครที่เคยดูซีรีส์ภาพยนตร์เรื่อง ‘Bridgeton’ ซึ่งเป็นซีรีส์ที่สะท้อนภาพสังคมในช่วงปี 1813 ในซีรีส์ก็จะแสดงให้เห็นถึงการหาคู่ครองที่เพียบพร้อม ที่ไม่ได้มองแค่ความรักแต่มองให้ลึกลงไปถึงความสามารถของคู่ครองในการดูแลชีวิตที่เหลือของเธอ ดังนั้นการพบปะของเหล่าหนุ่มสาวใน ‘ฤดูสังคม’ ไม่เป็นเพียงช่วงเวลาหาคู่แบบหวานแหววเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเจรจาธุรกิจต่าง ๆ ของครอบครัวด้วย สาว ๆ พร้อมใจกันเดินเข้าสู่ตลาดหาคู่ด้วยความเต็มใจ เพื่อหาเหล่าสุภาพบุรุษที่เหมาะสม แม้ความเหมาะสมที่ว่าจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์มากกว่าก็ตาม ใน‘ตลาดหาคู่’ ที่มีการแข่งขันสูงลิ่ว ใคร ๆ ก็อยากเป็นสินค้าเกรดพรีเมียมทั้งนั้น เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดพวกเธอต้อง แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายแสนแพง ที่ลงทุนไปกับ เสื้อผ้า หน้า ผมเพื่ออัพเกรดตัวเองให้สุภาพบุรุษ มาพิจารณาสู่ขอเพื่อเลือกเป็นคู่ครอง ‘ดังนั้นนี่จึงถือว่าเป็นการลงทุนกับความรักที่มีมาตั้งแต่ช่วง 200 ปีก่อน’ คราวนี้ทุกคนคงได้ทบทวนกับตัวเองอีกครั้ง ก่อนที่จะตอบคําถามข้างต้นเพราะ การลงทุนกับความรักเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่ทุกคนคิด แต่ก็ต้องคํานึงถึงสโลแกนที่คุ้นหูกันดีอย่าง ‘ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง’
‘ความรักคือการลงทุน แต่ถ้าผมชอบคุณ ขาดทุนก็ไม่เป็นไร’
รักแท้รักที่อะไร รักที่นามสกุล รักยี่ห้อรถยนต์ รักที่ว่าไม่จนมีสตางค์ให้จ่าย
ชื่อเสียง ฐานะทางสังคม เงินในบัญชี การศึกษา มีผลต่อการรักใครสักคนไหมนะ? “Don’t judge a book by its cover” อย่ามองคนที่ภายนอกสิ แต่สิ่งแรกที่เราเห็นคือภาพลักษณ์ภายนอกนี่นา เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพลักษณ์ภายนอกมีผลต่อการตกหลุมรักใครสักคน เพราะด้วยสภาพสังคมหรือสถานภาพทางการเงินของเราไม่ได้มีมากพอที่จะใช้เวลาศึกษา คน ๆ หนึ่งได้นานขนาดนั้น ปัจจุบันเราจึงต้องพรีเซ็นต์ตัวเองให้คนอื่นเห็นในสิ่งที่เราต้องการเพราะ เราก็เป็นสินค้าในตลาดหาคู่เช่นกัน ถึงคราวต้องงัดกลยุทธ์กันหน่อยไม่ว่าจะเป็น การโพสต์อินสตราแกรมแชร์ไลฟ์สไตล์ของเรา คนที่สนใจก็เพียงแค่กดฟอลโลว์ หรือการสร้างโปรไฟล์ในแอปหาคู่ เพื่อตอบสนองความต้องการได้ตรงจุดมากขึ้น สิ่งพวกนี้ก็เหมือนเป็นการล่นเวลาการทำความรู้จักกันมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าแต่ละคนคงมีสเปกหวานใจในฝัน หรือคุณสมบัติของคนรักที่เราอยากให้เป็น หลักการจึงไม่ต่างอะไรกับการคัดเลือก รับพนักงานเข้าบริษัท ผู้สมัครก็ต้องศึกษาบริษัทก่อนร่อนใบสมัคร บริษัทก็ต้องนำเสนอว่าฉันก็มีดี แต่เท่านี้อาจดูผิวเผินจนเกินไป บริษัทไหน ๆ ก็อยากได้พนักงานตัวอย่างผู้เพรียบพร้อม ดังนั้นจึงเกิดการสัมภาษณ์เพื่อทำความรู้จัก และแลกเปลี่ยนความคิดต่าง ๆ ว่าเราสามารถไปกันต่อได้หรือไม่ ถ้ามองในตลาดของความรักก็เปรียบเหมือนการออกเดท การคบหาดูใจ หากผ่านสัมภาษณ์ผู้สมัครก็อาจได้ไปต่อในตลาดของความรัก แต่หากผู้สมัครคนใดที่ไม่ได้ไปต่อ ก็คงถึงคราวต้องพิจารณาเรซูเม่ของตนเองซ่ะแล้ว… ทำไม? หล่อ สวย รวย เก่ง ถึงเป็นสินค้าขายดี หากในท้องตลาดมีสินค้าลิมิเต็ด ในตลาดความรัก คนหล่อ สวย รวย เก่ง ก็จัดเป็นสินค้าลิมิเต็ดเช่นกัน เพราะฉะนั้นหากสงสัยว่า ทำไมคนประเภทนี้จึงขายดี เป็นเทน้ำเทท่า มีหลักการที่เราเชื่อกันว่า อะไรที่ยิ่งแรร์ ตามหายาก มีปริมาณน้อยจะทำให้มีมูลค่า ในตัวเองมาก นี่มันหลักเศรษฐศาสตร์ชัด ๆ เมื่ออุปสงค์ มีมากกว่าอุปทาน ทำให้สินค้าขาดตลาด ป่านนี้แถว ต่อคิวรอสอยสินค้าลิมิเต็ดคงยาวจนไม่เห็นหางแถว หากเป็นแบบนี้หวานใจในฝันคงต้องเป็นแค่ฝันต่อไป ‘ถ้าแค่เงินยังไม่มี เรื่องความรักน่ะเลิกคิดไปได้เลย’ จากทฤษฎีตารางสามเหลี่ยมของ Maslow ชี้ให้เห็นว่าหากเราไม่มีฐาน ก็ไม่สามารถที่จะไต่บันไดขึ้นไปไขว่คว้าอะไรต่อไปได้เลย ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าชนชั้นทางสังคมจะเป็นตัวกำหนดความรู้สึกของเราไปโดยปริยาย เพราะชีวิตจริงไม่ใช่ละครขายฝันที่เหล่าแม่บ้านชอบดูก่อนนอน อย่างบทละครแนว Cinderella story ถึงคราวต้องพับเก็บไปก่อน ปิแอร์ บูร์ดิเยอ กล่าวว่า การที่คนเราปิ๊งคนที่รสนิยมเหมือนกันได้ ต้นทุนหรือสภาพแวดล้อมของชีวิตอาจไม่ต่างกันมากนัก แล้วแบบนี้วาสนาของเราจะเป็นใครกันนะ
เป็นแฟนคนจนต้องทนหน่อยน้อง พี่นี้ไม่มีเงินทอง มารองรับความลำบาก
‘เขาว่ากันว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม แต่พอพูดถึงเรื่องเงินมันชักไม่ค่อยสวยเท่าไหร่แล้วสิ’ เราต่างรู้กันดีว่า ‘การตกหลุมรัก’ ไม่ใช่ตอนจบมันเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น และในโลกแห่งความจริงอันแสนโหดร้าย มักมีข้อกําหนดต่าง ๆ มากมายมากําหนดความสัมพันธ์โดยเฉพาะเรื่อง ‘เงิน’ แม้ว่าเงินจะซื้อไม่ได้ทุกอย่างแต่เงินก็นํามาซึ่งอำนาจและสิ่งต่าง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งความรัก เงินมีผลต่อความสัมพันธ์จริงเหรอ? จากการสํารวจกลุ่มประชากรผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก พบว่า เงินมีผลต่อความสัมพันธ์ ถึง 96 % แม้จะบอกว่ารักกันด้วยใจแต่คนเราก็ต้องกินต้องใช้อยู่ดี อย่างคอนเทนต์ค่าอาหารในแต่ละมื้อฝ่ายไหนเป็นคนจ่ายที่ทำคนในสังคมต่างพร้อมใจลุกฮือกันเพื่อถกเถียงถึง ประเด็นนี้ แม้กระทั่งผลสํารวจยังออกมาก้ำกึ่ง โดยฝ่ายที่ยืนยันว่าตน ต้องเลี้ยงให้ได้ เนื่องจากความประทับใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญ บ้างก็ว่าหน้าที่ของลูกผู้ชาย บางส่วนก็อยากอวดฐานะให้เห็นว่า เราสามารถเลี้ยงเธอได้ แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเช่นกัน หารเท่าสิดี หมดยุคผู้ชายต้องหาเลี้ยงผู้หญิงแล้ว นี่มันยุคของความเท่าเทียมแล้วนะ จะมาเพราะเธอเป็นผู้ชายเธอเลี้ยงก็ไม่ใช่ ผู้ชายก็ต้องใช้เงินเหมือนกัน สำหรับในประเด็นนี้ไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าฝ่ายไหนถูกหรือผิดมีเพียงแค่ความสะดวกใจของแต่ละคู่เท่านั้น เพราะความรักเป็นเรื่องของเธอกับฉันแค่นั้นพอ
‘ความรักเป็นแค่เรื่องของเธอกับฉัน จริงหรือ?’
‘ฝันให้มีครอบครัวของเรา ฝันว่าเราแก่ไปด้วยกัน’ ก่อนจะฝันหวานไปไกลกว่านี้ ก็ถูกโลกแห่งความจริงปลุกให้ตื่นจากฝันกลางวัน การที่คนเราจะสร้างครอบครัวกับใครสักคนนั้นแค่ความรักอย่างเดียวอาจไม่พอ เมื่อปัจจัยภายนอกต่างรุมเร้าเข้ามาแทรกในความสัมพันธ์อันหวานชื่น ทำให้ความสัมพันธ์ของหลายคู่ต้องถึงคราวเลิกรา ผลสำรวจจากเหล่านักรักต่างบอกว่า ปัจจัยภายนอกมีผลต่อความสัมพันธ์จริง และสามอันดับแรกที่มีผลคือ ครอบครัวของแต่ละฝ่าย ความมั่นคง และที่ขาดไม่ได้คงเป็นเรื่อง การเงิน ปัญหาอันดับต้น ๆ ที่บรรดาคู่รักต้องโบกมือลาก่อนจะได้จับมือลั่นประตูวิวาห์นั่นคงหนีไม่พ้น ‘ค่าสินสอด’ หากมองในมุมเศรษฐศาสตร์ สินสอด เป็นราคาที่ไม่ผ่านการซื้อขายผ่านตลาด แต่ต้องผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองสู่ราคาที่ทั้ง 2 ฝ่ายพึงพอใจหรือที่เรียกกันว่า ‘ราคาดุลยภาพ’ ปัจจัยที่มีผลต่อการเรียกค่าสินสอดที่น่าสนใจคือ ลำดับการแต่งงานของคนในตระกูล เรามักเห็นกรณี ลูกสาวคนแรกของตระกูลเมื่อแต่งงานมักเรียกสินสอดที่สูงนั้น เป็นเรื่องของอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม (Marginal Utility) เพราะคนในครอบครัวเกิดความคาดหวังสูง อ่านมาถึงตรงนี้ คงได้แต่ขมวดคิ้ว คาดหวัง? เขาคาดหวังอะไรกันนะ คำตอบก็ง่าย แสนง่าย จนเรานึกไม่ถึงกันเลยทีเดียว เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น มาก่อนน่ะสิ ก็งานแต่งครั้งแรกของบ้านนี่นา ดังนั้นทรัพย์สินที่ฝ่ายชาย ต้องจัดเตรียมต้องเป็นหน้าเป็นตาและสร้างความพึงพอใจให้สมกับเป็น งานมงคลใหญ่ของครอบครัวเป็นธรรมดา
ไม่เคยมีดวงกับความรักซะเลย รักใครทีไรเขาก็ทำเฉย ๆ
แน่ล่ะขึ้นชื่อว่าความรัก ไม่ใช่ทุกคนจะสมหวังในเรื่องความสัมพันธ์ ยิ่งในโลกทุนนิยมที่ถือเป็นอุปสรรคความรักอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน ลงใจ เททุกอย่างหมดหน้าตักเพื่อเธอ แต่คนไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ การเป็นโสดไม่ได้หมายความว่าเราไม่ถูกเลือก แต่เมื่อโลกเราหมุนไปตามกลไกตลาด เรื่องของความรักก็เช่นกัน เราเพียงแค่เข้าแข่งขันผิดกลุ่มตลาดเท่านั้น ว่ากันว่าเด็กรุ่นใหม่เริ่มกลัวที่จะอกหัก กลัวความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว กลัวที่จะเสียเวลากับคนที่ไม่ใช่ เพราะเวลาทุกอย่างถูกทำเป็นเงินเป็นทอง หลายคนบอกว่า รักไม่เป็น เมื่อมองในโลกทุนนิยมคงไม่แปลกใจนัก ‘นักปรัชญาฝรั่งเศส อแลง บาดิยู กล่าวว่า ในโลกของทุนนิยมทำให้เรารักตัวเองมากกว่าคนอื่น รักตัวเองก่อนรักคนอื่น’
“ที่เรารักไม่เป็นเพราะเราอาจกําลังสับสนว่ามันคือความรักหรือความคุ้มทุน
สับสนว่าเป็นความรักหรือความเหมาะสมที่สังคมกำหนด”
รักแท้อาจจะไม่มีแล้ว หรือฉันเป็นคนทำให้มันกลับกลายเป็นไม่แท้ ความรักถูกประกาศว่าตายไปแล้ว คุณไม่ได้อ่านผิดแต่งอย่างใด ความรักถูกประกาศว่าตายไปแล้วในโลกทุนนิยม หลายทศวรรษมานี้ เนื่องจากการก่อตัวขึ้นของระบบทุนนิยม มนุษย์มีผลประโยชน์ระหว่างกัน รักแท้อาจไม่มีแล้ว? เมื่อความรักถูกโยงเข้ากับโลกอุดมคติที่เกิดจากการแต่งงานและสร้างครอบครัว การสมรสจึงถูกตีตราว่ามีผลประโยชน์อยู่เหนือความรู้สึก ความรักภายใต้ระบบทุนนิยมมักมีผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นรากฐานของความรู้สึกแทน เราจึงเปลี่ยนคู่ขาคู่เจรจาได้ตลอดเวลา ในขณะที่ความรักแบบโรแมนติกเป็นเหมือนพันธะสัญญาโซ่คล้องใจระหว่างคนสองคนจนกว่าความตายจะมาพรากจากกัน สาเหตุการตายของความรักจึงเกี่ยวเนื่องกับการก่อตัวขึ้นของระบบทุนนิยม ถึงอย่างไรความรักก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เราไม่สามารถใช้เพียงแค่ทฤษฎีหรือความรู้สึกส่วนตัวของเราไปตัดสินความสัมพันธ์ของผู้อื่นได้ รักแท้อาจจะมีอยู่จริง โลกทุนนิยมอาจเป็นอุปสรรคเมื่อเราตกหลุมรักใครสักคน แต่เมื่อเราไม่สามารถหลุดจากโลกทุนนิยมนี้ไปได้ สิ่งที่เราควรทำคือ เรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกทุนนิยมนี้อย่างมีความสุข เรียนรู้ที่จะรัก เรียนรู้ที่จะล้ม เพราะความรักถือเป็นเรื่องที่อยู่เหนือกว่าทฤษฎีและตรรกะใดในโลก
“เมื่อฉันเลือกที่จะมีรักในยุคทุนนิยม ตราบใดที่เราทั้งคู่ยังมีความสุข ความรักของเราย่อมมีค่าเท่ากันเสมอ
ผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา Writing for Economic Communication
วิชาเอกการสื่อสารเพื่อเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
1. นางสาวหฤทัย ยิ่งเกียรตินนท์ รหัสนิสิต 64130010157
2. นางสาวอารยา อุตอามาต รหัสนิสิต 64130010284
3. นางสาวจิรัชญา ไชยศรี รหัสนิสิต 641030010377
4. นางสาวชัชฎากานต์ กาญจนะไพโรจน์ รหัสนิสิต 641030010442
5. นางสาวบัณฑิตา อวยพร รหัสนิสิต 641030010448
6. นายพันธกร ฉัมมาลี รหัสนิสิต 641030010450