ปี พ.ศ. 2566

บทความวิจัย เรื่อง "Anti-Aging Medicine"

Anti-Aging Medicine

          Trend ในการดูแลสุขภาพของคนยุคปัจจุบันมากกว่าในอดีต เนื่องจากความง่ายในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาต่อเนื่อง ส่งผลทำให้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น จึงทำให้หลายประเทศมีประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในการที่จะมีสุขภาพที่ดีในวัยสูงอายุ ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนเข้าวัยสูงอายุ เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงปลายของชีวิต ดังนั้น คำพูดที่ว่า “การไม่มีโรค คือ ลาภอันประเสริฐ” จะเป็นจริงได้ ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตในทุกวันของตัวเราเอง การไม่มีโรค นั่นคือ การรู้จักป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้น คล้ายกับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนั่นเอง ข้อดีของการป้องกันโรคที่เห็นชัดที่สุด คือ ค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคจะราคาถูกกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแน่นอน วิธีการดูแลตนเองที่ได้ผลดีที่สุดและกำลังได้รับความนิยมในตอนนี้ คือ แนวทางของศาสตร์ที่เราเรียกว่า เวชศาสตร์ชะลอวัย (Anti-aging medicine)                                “เวชศาสตร์ชะลอวัย” เป็นสาขาทางการแพทย์ที่ใช้วิธีการส่งเสริมและป้องกันโรค (Preventive medicine) โดยเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การนอน เป็นต้น เพื่อชะลอไม่ให้ร่างกายเราเสื่อมก่อนวัยอันควร ซึ่งความเสื่อมนั้นเราทุกคนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถที่จะทำให้ความเสื่อมนั้นมาช้าที่สุด นั่นถือว่า เป็นเรื่องที่ดีที่สุด พูดง่าย ๆ คือ ทำอย่างไรให้แก่ช้าที่สุด และให้เราได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างที่เราต้องการได้นานที่สุด

ความหมายของเวชศาสตร์ชะลอวัย คืออะไร
           บางคนอาจจะคิดว่า เป็นเรื่องของความงามและการทำศัลยกรรมต่างๆ เพื่อให้ผิวพรรณเราดูอ่อนเยาว์เท่านั้น ความจริงแล้ว เวชศาสตร์ชะลอวัย เป็นสาขาทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นการป้องกันและดูแลสารชีวเคมีในเลือด เช่น ระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด ฮอร์โมน วิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ ให้อยู่ในระดับที่ดีที่สุด ทำให้ร่างกายรู้สึกกระฉับกระเฉง สดชื่น มีพลังมากขึ้น ลดไขมันสะสม ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ฮอร์โมนทำงานสมดุล โดยเน้นให้ทุกคนรู้จักสังเกตตัวเอง เพราะไม่มีใครรู้จักตัวเราดีเท่ากับตัวเราเอง

           หลักของเวชศาสตร์ชะลอวัย คือ การป้องกันโรคก่อนเกิดโรค ทำให้ร่างกายเรา ป่วยยาก เสื่อมช้า เพื่อให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยที่มีอายุมากขึ้น เหมือนหลักของสาธารณสุขที่ให้เราสังเกตตัวเองด้วย “5 อ คือ ออกกำลัง อาหาร อารมณ์ อากาศ อุจจาระ”  ดังนั้น หลักการง่าย ๆ ของเวชศาสตร์ชะลอวัย มีดังนี้ คือ
1. ป้องกันก่อนเกิดโรค รวมถึงการรักษาดูแลภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังที่เกิดจากความชรา ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ
2. เสริมสร้างภาวะสุขภาพให้แข็งแรง หมายถึง การทำงานของทุกระบบในร่างกายอยู่ในภาวะสมดุล ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ ทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจมีคุณภาพที่ดี ส่งผลโดยรวมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ความเสื่อมของร่างกาย เกิดจากอะไร แล้วชะลอความเสื่อมได้ด้วยวิธีใดได้บ้าง
          ร่างกายของเรา ความเสื่อมถอยจะเกิดได้ตั้งแต่วัย 25-30 ปี นั่นหมายถึง อาจจะเริ่มมีอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ส่งสัญญาณของความเสื่อมให้เห็น อาจไม่ถึงกับเป็นโรคร้ายแรงอะไร แค่รู้สึกว่า ร่างกายไม่เหมือนเดิม เช่น เป็นแผลแล้ว หายช้ากว่าเมื่อก่อน เดินหกล้ม สะดุดง่ายขึ้น เป็นต้น ความเสื่อมของร่างกายยังขึ้นอยู่กับพันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลด้วย เช่น การทานอาหารขยะ อาหารทอด ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม ดื่มน้ำน้อย ไม่ทานผักผลไม้ นอนดึก สูบบุหรี่ กินเหล้า ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น ทำให้ร่างกายเสื่อมได้เร็วขึ้น ดังนั้น การดูแลร่างกายให้เสื่อมถอยช้าลง แบ่งออกเป็น 2 วิธี ดังนี้
          1. การดูแลจากภายนอก คือ การทำให้ผิวพรรณและใบหน้าแลดูอ่อนเยาว์กว่าอายุ โดยเราสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เวชสำอางต่าง ๆ การทำหัตการ เช่น การทำเลเซอร์ คลื่นอัลตราซาว์ดยกกระชับผิว การฉีดโบท็อกซ์ลดริ้วรอย การดูดไขมัน และการปลูกผม เป็นต้น
          2. การดูแลจากภายใน ซึ่งวิธีนี้เป็นการทำให้ร่างกายดีขึ้นจากภายในสู่ภายนอก และยั่งยืนกว่าแบบดูแลจากภายนอก โดยอาศัยความร่วมมือจากตัวเราเองและแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ให้ความช่วยเหลือและแนะนำ การเริ่มต้นการดูแลร่างกายจากภายใน เราต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจร่างกายโดยแพทย์ เพื่อดูว่า ร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันอะไรบ้าง มีความเสี่ยงจะเกิดโรคอะไรได้บ้าง จากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการดูแลองค์รวมของร่างกายให้เข้าสู้สมดุลให้มากที่สุด ดังนั้น การได้รับยาหรืออาหารเสริม วิตามิน เพื่อบำรุงร่างกายจึงเป็นสูตรเฉพาะของเราคนเดียว ไม่สามารถจะแบ่งให้คนอื่นทานได้ อีกทั้ง เรายังได้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่น ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการชะลอวัยได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง  

         ดังนั้น เวชศาสตร์ชะลอวัย ควรเริ่มต้นตั้งแต่ร่างกายเรายังไม่เสื่อมถอย จะทำให้เราชะลอความเสื่อมได้ช้าที่สุด แต่การเริ่มต้นไม่มีคำว่าช้าเกินไป เริ่มตั้งแต่วันนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

โดย..ดร.ชนญญา ชัยวงศ์โรจน์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาเอกการสื่อสารเพื่อสุขภาพ
วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว