ผู้ประกอบการเพื่อสังคม : การพัฒนาทุนมนุษย์ที่สำคัญและจำเป็นในปัจจุบัน
พัฒนาการของนวัตกรรมความเป็นผู้ประกอบการซึ่งหมายความรวมถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวผู้ประกอบการเองที่มุ่งหวังจะนำพากิจการของตนเองให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่มุ่งเน้นนวัตกรรมในการประกอบการที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างคุณค่าทางสังคมมากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง จนกลายเป็นการดำเนินกิจการเพื่อสังคม (Social enterprise) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีเป้าหมายและพันธกิจเพื่อมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าหรือก่อประโยชน์ให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยกิจกรรมทางธุรกิจในลักษณะต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการและความจำเป็นของสังคมนั้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความตระหนักต่อปัญหาที่เกิดขึ้น จึงส่งผลให้การประกอบการเพื่อสังคม (Social entrepreneurship) ได้มีพัฒนาการและเติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้ประเด็นที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรม เทคโนโลยี นโยบายสาธารณะ การพัฒนาชุมชน การเคลื่อนไหวทางสังคม และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์หลักของการประกอบการทางสังคมในด้านการลดความยากจนและการไม่รู้หนังสือ การปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวมและคุณภาพชีวิตของชุมชน การสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม ตลอดจนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อคนรุ่นหลังก็ตาม
กิจการเพื่อสังคม เกิดขึ้นหลากหลายระดับตั้งแต่จากการสร้างผลกำไรทางสังคมอย่างยั่งยืน ไปจนถึงการดำเนินงานที่ไม่แสวงหาผลกำไรด้วยการใช้กิจกรรมทางการตลาดเพื่อเป้าหมายทางสังคม ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ตั้งกิจการเพื่อสังคมขึ้นจึงต้องมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาไว้ซึ่งคุณค่าทางสังคม ตลอดจนแสวงหาโอกาสอย่างไม่หยุดยั้งในการรับใช้สังคม การเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างสรรค์นวัตกรรมและความรู้สึกในความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เพิ่มขึ้นเป็นต้น โดยสิ่งดังกล่าวมานั้นมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ การสร้างเสริมบุคลิกภาพและคุณลักษณะของบุคคลโดยกำเนิดที่ส่งผลต่อความสามารถ แรงจูงใจทัศนคติและอารมณ์ของแต่ละบุคคลที่มีความแตกต่างกันออกไป โดยเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและการแสดงออกถึงความเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมของบุคคล (Joyce, María, Adrián, Mauro, Rosa&Manuel, 2018)
โดยในการวิจัยของ Hockerts (2017) พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตั้งใจเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม คือ การสนับสนุนทางสังคม การรับรู้ความสามารถของผู้ประกอบการทางสังคม พันธะทางศีลธรรม และความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของคุณลักษณะส่วนบุคคลที่มีต่อการดำเนินกิจการเพื่อสังคม เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Chinchilla และ Garcia (2017) พบว่า มีความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างการฝึกสติกับการฝึกอบรมผู้ประกอบการและความตั้งใจในการเป็นผู้ประกอบการทางสังคม โดยหากบุคคลเข้าร่วมในหลักสูตรฝึกอบรมผู้ประกอบการส่งผลทำให้ความตั้งใจในการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมของแต่ละบุคคลจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น การฝึกอบรมผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งพร้อมกับการพัฒนาทักษะการมีสติจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางสังคมประสบความสำเร็จรวมทั้งงานวิจัยของ Tirta และคณะ (2018) พบว่า ลักษณะเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อระดับการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้ประกอบการทางสังคมคือความอุตสาหะ ดังนั้น จากผลการวิจัยที่ผ่านมาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าคุณลักษณะของผู้ประกอบการเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จของกิจการเพื่อสังคมทั้งคุณลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นจากบุคลิกภาพส่วนบุคคลและคุณลักษณะที่เกิดจากการพัฒนาศักยภาพหรือการฝึกอบรม การศึกษาคุณลักษณะของผู้ประกอบการเพื่อสังคมในบริบทที่แตกต่างกันนั้น ทำให้เห็นถึงความการให้ความสำคัญต่อคุณลักษณะของผู้ประกอบการใน 3 มิติ ด้วยกันคือ มิติด้านความรู้ความสามารถ มิติด้านทักษะประสบการณ์ มิติด้านคุณลักษณะบุคลิกภาพ โดยสามารถสรุปได้ ดังนี้
1.
มิติด้านความรู้ความสามารถ โดยมิติในด้านนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 องค์ประกอบ
ได้แก่
1) ด้านการวางแผน
2)
ด้านการค้นหาข้อมูล
3) ด้านประสิทธิภาพ
2.
มิติด้านทักษะประสบการณ์ โดยมิติในด้านนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 องค์ประกอบ
ได้แก่
1) ด้านการแสวงหาโอกาส
2)
ด้านการมุ่งสู่เป้าหมาย
3) ด้านความผูกพันในพันธสัญญา
3.
มิติด้านคุณลักษณะบุคลิกภาพ โดยมิติด้านนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 7 องค์ประกอบ
ได้แก่
1)
การเปิดรับประสบการณ์และการเรียนรู้ (Openness)
2) ความเปิดเผย (Extraversion)
3)
ความประนีประนอม (Agreeableness)
4) ความยึดมั่นในหลักการ (Conscientiousness)
5)
ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ (Neuroticism)
6) ด้านความกล้าเสี่ยง (Risk – taking)
7)
ด้านความมั่นใน (Self – confidence)
8) ด้านการโน้มน้าวใจ (Persuasive)
จากการสังเคราะห์บทความสะท้อนให้เห็นว่าแนวทางการกำหนดตัวชี้วัดคุณลักษณะผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้น
ควรให้ความสำคัญต่อมิติด้านคุณลักษณะบุคลิกภาพ มากกว่ามิติด้านความรู้ความสามารถ
และมิติด้านทักษะประสบการณ์ เนื่องจากอาจเป็นเพราะใน 2 มิติ หลังนี้
เป็นคุณลักษณะพื้นฐานของผู้ประกอบการโดยทั่วไปควรจะมี
แต่กิจการเพื่อสังคมเป็นการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากการต้องการช่วยเหลือสังคมของตัวผู้ประกอบการเองเป็นสำคัญ
และไม่ได้มีผลกำไรหรือเป้าหมายในการสร้างรายได้ให้มากที่สุด
จึงทำให้แรงจูงใจในการประกอบกิจการเพื่อสังคมของผู้ประกอบการเพื่อสังคม
จึงมักเกิดขึ้นจากคุณลักษณะบุคลิกภาพซึ่งเป็นซึ่งที่เกิดขึ้นภายในตนเองของผู้ประกอบการแต่ละราย
จนนำไปสู่การเกิดเป็นกิจการเพื่อสังคมที่มีแนวทางการดำเนินงาน ได้แก่
1) การมีวิสัยทัศน์ทางสังคม
2)
การมีความชื่นชมการดำเนินงานที่ยั่งยืน
3)
การมีความสามารถในการพัฒนาเครือข่ายทางสังคม
4) การมีความสามารถเชิงนวัตกรรม
5)
การมีความสามารถในการสร้างรายได้หรือผลตอบแทน
ดังนั้น จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า ตัวชี้วัดคุณลักษณะผู้ประกอบการเพื่อสังคมของตัวผู้ประกอบการเองจะเป็นปัจจัยบ่งชี้การดำเนินกิจการเพื่อสังคมในเกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมหรือพัฒนาคุณลักษณะของผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้เกิดขึ้น เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาทางสังคมในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
โดย..ดร.กฤชณัท แสนทวี
อาจารย์ประจำสาขาวิชาเอกการสื่อสารเพื่อการจัดการนวัตกรรม
วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว