ปี พ.ศ. 2563

[บริการวิชาการฯ] การใช้มาสคอตเพื่อประชาสัมพันธ์และพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น

บทความบริการวิชาการ:
โดย: อ.เอกลักษณ์ โภคทรัพย์ไพบูลย์
สาขาคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียและธุรกิจไซเบอร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม


เชื่อหรือไม่ว่ามาสคอตอย่างอย่างเจ้าหมีคุมะมง (Kumamon) เคยสร้างรายได้รวมมากกว่า 4.2 หมื่นล้านบาทกลับเข้าสู่จังหวัดคุมาโมโตะในปี พ.ศ.2560 หรือเจ้าแมวฮิโคเนี๊ยง (Hikonyan) ก็เคยเพิ่ม GDP ให้แก่เมืองฮิโกเนะได้กว่าร้อยละ 5 ทั้งหมดล้วนไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เกิดจากการสร้างมาสคอตและวางกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างชาญฉลาดเพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนเชื่อมโยงกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายมากขึ้นในยุคดิจิทัล



ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากในการใช้มาสคอตเพื่อการประชาสัมพันธ์ท้องถิ่นหรือเรียกว่ายูรุเคียระ (Yuru-chara) โดยสามารถสร้างรายได้กลับสู่ท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพจากการนำภาพลักษณ์ของมาสคอตเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าที่ระลึก หรือความร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ โดยหลักการการเป็นมาสคอตยูรุเคียระนั้นต้องประกอบไปด้วย

  1. มีการสื่อสารเรื่องราวหรือความรักที่มีต่อท้องถิ่น
  2. มีบุคลิกภาพเฉพาะตัว เช่น ต้วมเตี้ยม ซุ่มซ่าม อุ้ยอ้าย เพื่อให้เกิดความน่าจดจำ น่าหลงรัก
  3. มีลักษณะที่ดูง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่ซับซ้อน



มาสคอตที่ดีนั้นต้องสร้างแรงสั่นสะเทือน (impact) ในประเทศให้ได้โดยอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและประชาชน ทำให้เชื่อว่ามาสคอตมีชีวิตจริง มีเรื่องราว และทุกคนในท้องถิ่นก็สามารถนำภาพไปใช้เพื่อสร้างประโยชน์และเพิ่มมูลค่า (value added) ให้กับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นตนเองควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ (public relations) อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมาสคอตดังคนก็อยากรู้เรื่องราวของท้องถิ่น เมื่อท้องถิ่นเป็นที่รู้จักนักท่องเที่ยวก็จะมาเยือน จนเกิดการจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

การออกแบบมาสคอตเพื่อท้องถิ่นจึงไม่ใช่แค่การนำภาพกราฟิกเข้าไปติดไว้เพื่อหารายได้ แต่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการหมั่นสร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในทุกช่องทาง ทั้งงานโชว์ตัว ออกสื่อ เล่น Twitter อัปโหลดคลิปวิดีโอลง Youtube ฯลฯ เพื่อประสานโลกออนไลน์และโลกแห่งความจริงเข้าด้วยกันทำให้มาสคอตนั้นยังไม่เลือนหายไปจากความรู้สึกของคน แม้ในยามเกิดภัยพิบัติมาสคอตก็เป็นตัวแทนที่สามารถส่งความห่วงใยถึงกันได้

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะหันมาจริงจังกับการใช้มาสคอตเพื่อการประชาสัมพันธ์ท้องถิ่นหรือชุมชนกันให้มากขึ้นโดยอาศัยช่องทางการสื่อสารบนโลกออนไลน์ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์ในชีวิตจริง เชิดชูคุณค่าภายในท้องถิ่นในมิติต่าง ๆ เพื่อให้เกิดทางเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างสร้างสรรค์ กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ต่อไปในอนาคต